บทบาททางการเมือง ของ กระจ่าง ตุลารักษ์

ในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายกระจ่างรับหน้าที่ควบคุมตัวบุคคลสำคัญและเจ้านายชั้นสูงในพระที่นั่งอนันตสมาคม รวมถึงอารักขาหัวหน้าคณะราษฎรด้วย โดยไม่ได้รับรู้มาก่อนเลยว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะเป็นบุคคลระดับเล็ก ๆ ไม่ได้รับรู้ถึงแผนการชั้นสูง

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการครอง ที่สมาชิกคณะราษฎรหลายคนได้มีตำแหน่งและบทบาททางการเมือง แต่นายกระจ่างก็ได้กลับไปเป็นลูกจ้างตามเดิม โดยไม่มีตำแหน่งใด ๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากอายุยังน้อยอยู่ จนกระทั่งเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2484 นายกระจ่างได้ร่วมกับขบวนการเสรีไทย โดยได้ปฏิบัติหน้าที่เล็ดลอดเข้าไปในประเทศจีนเพื่อให้ความคุ้มครองบุคคลสำคัญต่าง ๆ และปฏิบัติงานอยู่ตามตะเข็บชายแดนไทย-ลาว และลาว-เวียดนาม หลังเสร็จสงครามแล้วได้รับยศเป็น ร้อยโท (ร.ท.) เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2488[1]

จากนั้น ร.ท.กระจ่างก็ได้กลับไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวที่จังหวัดยะลา โดยได้เปิดกิจการโรงเลื่อยที่อำเภอรามัน และได้สมรสกับนางพวงเพ็ชร (นามเดิม: สวนเพ็ชร โกวิทยา) ซึ่งเป็นภรรยา มีบุตรธิดารวมทั้งสิ้น 4 คน

ร.ท.กระจ่าง เคยเป็น ส.ส. จังหวัดขอนแก่น จากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2489 (ต่อมาเข้าร่วมกับพรรคสหชีพ)[2] จากนั้น เมื่อหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช อดีตหัวหน้าเสรีไทยสาย สหรัฐอเมริกา ได้เข้ารับตำแหน่งหัวหน้า พรรคประชาธิปัตย์ ต่อจากนายควง อภัยวงศ์ ที่ถึงแก่อสัญกรรมไปเมื่อปี พ.ศ. 2511 ร.ท.กระจ่างได้สมัครเป็นสมาชิกพรรค และได้ลงเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในจังหวัดยะลา แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง หลังจากนั้นชีวิตก็ได้วนเวียนอยู่ในแวดวงการเมืองมาโดยตลอด เช่น เป็นนักการเมืองท้องถิ่น และปลูกฝังทัศนคติทางการเมือง การปกครองแก่บุตรหลานและคนใกล้ชิด เป็นต้นกระทั่ง พ.ศ. 2525 ร้อยโทกระจ่างได้เข้ามาเป็นกรรมการบริหาร พรรคประชาธิปัตย์ ที่จดทะเบียนขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง [3] ก่อนจะพ้นจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคเมื่อ พ.ศ. 2526 [4]

ในเดือนมิถุนายนปี พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 67 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ร.ท.กระจ่างได้ให้สัมภาษณ์นิตยสารสารคดีถึงเหตุการณ์ในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในฐานะที่เป็นสมาชิกคณะราษฎรคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่